x
มู นิ ธิ พื่ พั

ประวัติความเป็นมามูลนิธิฯ

ประวัติความเป็นมามูลนิธิฯ


มูลนิธิเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ มูลนิธิประภา-สมพงษ์


มูลนิธิแรกของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คือ มูลนิธิประภา-สมพงษ์ จดทะเบียนต่อกระทรวงมหาดไทย เลขทะเบียนลำดับที่ 3912 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2531 ทั้งนี้เพื่อเป็นการน้อมรำลึกต่อ อาจารย์ประภา ประจักษ์ศุภนิติ ผู้อำนวยการคนแรกของมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้น คือ วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี อีกทั้งท่านยังเป็นผู้ริเริ่มผลิตครูอาชีวศึกษาระดับปริญญาด้านการศึกษาทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์และอาชีวศึกษาของประเทศไทย ซึ่งมีความหมายอย่างมากในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม





และเมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2532 ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งขณะนั้นคือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้จัดประชุมสัมมนา ณ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีนายกสมาคมนักศึกษาเก่า และประธานชมรมมดภาคต่าง ๆ เข้าร่วมสัมมนาด้วย ในหัวข้อ “ทิศทางของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในทศวรรษหน้า (พ.ศ. 2532- พ.ศ. 2542)” ที่ประชุมมีมติเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องหาทุนเพื่อพัฒนาสถาบัน โดยการจัดหารายได้เพื่อเสริมงบประมาณของสถาบัน และควรจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาสถาบันด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนจากนักศึกษาเก่า ที่ประชุมจึงมีมติให้จัดตั้ง “มูลนิธิเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี” ขึ้น จดทะเบียนต่อกระทรวงมหาดไทย เลขทะเบียนลำดับที่ 4325 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2532





ทั้งนี้ คณะกรรมการมูลนิธิทั้งสองประกอบด้วยคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ผู้แทนจากสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้แทนจากชมรมมด ทุกภูมิภาค ซึ่งปัจจุบัน รองศาสตราจารย์ ดร.หริส สูตะบุตร ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิฯ

และ เพื่อให้สามารถระดมทุนได้อย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการมูลนิธิฯ จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดหาทุนขึ้น 1 ชุด โดยมี รองศาสตราจารย์เกษม เพชรเกตุ เป็นประธานจัดหาทุน โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงานในด้านต่างๆดังนี้

  • การรับบริจาคทุนทรัพย์จากนักศึกษาเก่าของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และผู้มีจิตเป็นกุศล
  • การจัดอบรมเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม ให้กับวิศวกรทุกแขนงทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีหลักสูตรที่เป็น Public Training และ In house Training รูปแบบการจัดอบรม On line และ On site พร้อมกันนี้มูลนิธิฯได้รับการแต่งตั้งจากสภาวิศวกรให้เป็นองค์กรแม่ข่ายการพัฒนาวิชาชีพวิศวกรรมอย่างต่อเนื่อง รหัสองค์กรแม่ข่าย 5003 โดยทุกหลักสูตรสามารถรับรองหน่วยพัฒนาวิชาชีพวิศวกรรมอย่างต่อเนื่อง ( PDU ) และ จัดทำวุฒิบัตรมอบให้ผู้เข้ารับการอบรม
  • การแนะแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมในการเริ่มต้นปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมต่างๆให้แก่นักศึกษาปัจจุบัน
  • การเข้าร่วมงานประชุมสามัญประจำปีและงานสังสรรค์ของชมรมมดทุกภูมิภาค
  • การจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ในมวลหมู่นักศึกษาเก่าและนักศึกษาปัจจุบัน
Go To Top